สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ และพี่น้องชาวนิเทศฯ วันนี้เราขออนุญาตนำบทความเก่าของพี่ซัน มาโนช พุฒตาล นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 12 มาเล่าสู่กันฟังค่ะ.แม้จะเขียนไว้ตั้งแต่ 13 ปีก่อน แต่ก็ยังคงร่วมสมัยไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากพี่ซันได้หยิบประเด็นสำคัญอย่างจรรยาบรรณของนักสื่อสารมวลชนมาถ่ายทอด เชื่อว่าทุกคนจะได้รับความคิดดีๆ และเข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสตร์วิชาแท้จริงที่อาจารย์บำรุงสุขได้วางรากฐานมาตั้งแต่เกือบ 60 ปีที่แล้วนะคะ 
…………………………………………………….
งูกินหางมาโนช พุฒตาลนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 12.
.
สื่อมวลชน นักนิเทศศาสตร์ก็เป็นคน แต่เป็นคนที่มีบทบาทสูงในการชี้นำ สร้างความคิด ความเชื่อขึ้นในสังคม ซึ่งมีความสำคัญมาต่อความสงบสุข คุณค่า บรรทัดฐาน มาตรฐาน ในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของคนและสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้
.
หากมีโลกหลังความตาย อิทธิพลของสื่อมวลชน นักนิเทศศาสตร์ก็ยังจะมีผลต่อการดำเนินต่อไปของดวงวิญญาณของชีวิตที่ตายไปแล้วทั้งหลายด้วย!
.
จึงต้องมีหลักการที่ถูกต้องเป็นจริงไว้สำหรับให้นักนิเทศศาสตร์ ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เราเรียกหลักการนี้ว่า จรรยา
.
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีแผนก วิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง, แผนกการโฆษณาประชาสัมพันธ์, แผนกหนังสือพิมพ์, แผนกภาพยนตร์
.
แล้วผลผลิตของนิเทศฯ ออกไปสร้างคุณค่าใดๆ ขึ้นบ้างในบ้านเมืองของเรา?
.
เรามีความหวังและตั้งเป้าหมายตามอุดมคติได้แค่ไหน?
.
เพราะเอาเข้าจริงนิเทศศาสตรบัณฑิตมีกี่พันคน เมื่อเอาไปเทียบกับจำนวนคนไทยอีกมหาศาลในสายงานอาชีพอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ชีวิตที่เป็นสุขและมีคุณภาพของคนไทยทั้งประเทศ
.
แล้วเราจะพบกับสภาพ งูกินหาง
.
มันเป็นสภาพที่เจ็บปวด และมองเห็นอนาคตชัดเจนว่าคือ ความสูญสิ้น จะเหลือไว้ก็เพียงแต่ขากรรไกรที่หลังจาากกลืนกินหางกินกลางตลอดตัว แล้วก็ไม่อาจกัดกินส่วนสุดท้ายที่เหลืออยู่ได้ แม้วันนั้นยังคงอีกยาวนานมากกว่าจะมาถึง เพราะความสามารถในการงอกออกใหม่ของหางงู
.
แพทย์ต้องตรวจหาให้เจอว่าคนไข้ป่วยด้วยโรคอะไร
.
ตำรวจต้องสืบให้พบว่า ผู้บงการจ้างวานฆ่าเป็นใคร
.
มือกีตาร์ต้องเค้นเอาวิญญาณของอารมณ์แท้จริงออกมาเป็นตัวโน้ต
.
นักนิเทศศาสตร์ ก็ต้องทำความจริงให้ประจักษ์ อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน ทำไม อย่างไร
.
ทุกคนทุกฝ่าย เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันที่ตนร่ำเรียนมาก็ล้วนรู้หลักการจรรยาและมีอุดมการณ์ที่จะสนองและปฏิบัติ แต่แล้วเมื่อทุกคนจากทุกสายอาชีพมาพบกัน หลักการกลับไม่สอดคล้องกัน ผลลัพธ์นะหรือ ลองดูเรื่องสมมุติิที่จะเขียนต่อไปนี้
.
บริษัทผลิตสุรา-เหล้าแห่งหนึ่งเป็นองค์กรธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย เสียภาษีถูกต้อง มีพนักงานทำงานเต็มความสามารถ เป้าหมายของบริษัทก็คือ กำไร เพื่อผลกำไรที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีคนทำงานจากหลายสายอาชีพมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยง
.
– นักเคมี มาทำหน้าที่สร้างส่วนผสมให้รสดีชวนดื่ม
.
– นักออกแบบ มาออกแบบขวดหีบห่อให้สวยงาม ชวนซื้อ
.
– นักการตลาด มาวางแผนหาช่องทางสร้างตลาด
.
– นักโฆษณา คิดโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ กระตุ้นประชาชนให้อยากดื่ม อยากซื้อ ฯลฯ
.
นักต่างๆ เหล่านี้ พยายามเต็มความสามารถให้บรรลุเป้าหมาย แต่อุดมคติและจรรยาเล่ามีข้อห้ามนักออกแบบขวดเหล้า ห้ามนักโฆษณาคิดแคมเปญโฆษณาเหล้าหรือเปล่า?
.
จากนั้นเราก็จะมี
.
– นักดื่ม อันนี้มาจากทุกสายวิชาชีพ ทุกสายงาน
.
– ตำรวจ ตามจับพวกเมาแล้วขับ เมาแล้วทำร้ายผู้อื่น
.
– แพทย์ รักษาคนเป็นโรคตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง
.
– นักโฆษณา คิดแคมเปญ รณรงค์ให้คนเลิกกินเหล้า
.
จากนักต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับสุรา เราจะพบว่านักโฆษณา นักนิเทศศาสตร์ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องสุราเหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งชักจูงให้ดื่ม อีกฝ่ายรณรงค์ให้ไม่ดื่ม
.
อย่างนี้หมายความอะไร หมายความว่า หลักการ จรรยา และอุดมคติของนักนิเทศศาสตร์ สามารถพลิกเป็นตรงกันข้ามได้หรือ?
.
แล้วเราลองพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตในสังคมของเราเถิดว่ามันเป็นงูกินหางจริงหรือไม่
.
เก็บภาษี เหล้าแพงๆ เพื่อเอาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ต่อต้านการดื่มเหล้าแล้วได้ผลไหม? สงกรานต์ก็ยังตายกันหลายร้อยศพ
.
อะไรจะหยุดสภาพงูกินหางนี้ได้?
.
มี!
.
คำตอบก็คือ ในเมื่อปัญหาเกิดจากหลักการ อุดมคติ และจรรยาของหลายสายงานสายอาชีพไม่สอดคล้องกัน เมื่อนำมาปฏิบัติจริง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้หลักการที่ดีที่สุดร่วมกัน หลักการเดียวให้ทุกคนปฏิบัติตาม ซึ่งมีอยู่แล้วนั้นคือ บทบัญญัติทางศาสนา เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา ก็นำเอามาใช้เป็นหลักการในการทำงานของทุกฝ่ายได้เลย
.
ในกรณี สุรา ก็เอาหนึ่งในศีล 5 มากำกับ ผลลัพธ์ก็คือ เลิกผลิตเหล้า เลิกกินเหล้า
.
พูดง่าย แต่ก็ทำยากใช่ไหม ใช่ยากแต่ไม่ใช่ทำไม่ได้
.
เคยมีบางคนอ้างถึงผมว่า อย่าลืมสิว่าคนเรามีทั้งบัวในโคลน บัวใต้น้ำ บัวเหนือน้ำ นี่ก็เป็นคำสอนทางศาสนา อย่าเอามาอ้างเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งความผิดพลาดของชีวิต เอามาสอนตัวเองเพื่อให้เกิดความถูกต้องดีงาม อย่าเอาความรู้มาเลือกใช้หาช่องทางทำผิด
.
นักนิเทศศาสตร์ ต้องเลือกทางที่ถูกต้องให้ตนเอง เพื่อชี้นำให้มวลชนถูกต้องไปตามความจริงด้วย หรือว่าพวกเราหวาดกลัวความสงบสุข
.
ผมจบนิเทศฯ รุ่น 12 รุ่นเดียวกับผม มีภราดร สร้างหนัง มีโอฬาร เป็นครู มีเป็น PR เป็นข้าราชการทหาร บางคนทำงานค้าขาย ส่วนผมทำรายการโทรทัศน์วิทยุ อยู่วงการเพลง ผมทำให้คนได้ฟังเพลงฝรั่งได้ดู Music Video แต่ผมไม่เคยมั่นใจเลยว่า ได้ทำให้คนไทยมีชีวิตสงบสุขและมีคุณภาพใดๆ ขึ้นมา
.
แต่เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่ง เกษม จารุสมบูรณ์ เป็นคนตัวเล็กๆ ทำอาชีพจำหน่าย-ติดตั้ง-ซ่อมเครื่องปรับอากาศ (แอร์) ผมมีโอกาสได้ใช้บริการของเพื่อน แล้วพบว่าเพื่อนทำงานโดยใช้จรรยา อุดมคติแบบนักนิเทศศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการศาสนาพุทธ ผลลัพธ์ก็คือ แอร์บ้านผมเย็นสบายตามปกติ แต่วิธีการทำงานของเกษมที่ใช้จรรยา อุดมคติของนักนิเทศศาสตร์บนพื้นฐานศาสนา ส่งผลให้ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำความดี ทำความถูกต้องให้สำเร็จ
.
ผมยังคงหลงแสงสีอยู่ แต่เลิกหวาดกลัวความสงบสุข และจะพยายามไปให้ถึง.
.
ที่มา : หนังสือใต้ถุน หนังสืออนุสรณ์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2548
.