
ภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2
ขอนำภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2 เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมใบหยกสกาย มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ
สวัสดีค่ะ พี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ชาวนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ วันนี้เรามีบทความคัดสรรมาฝากทุกท่านอีกแล้ว
.
ครั้งนี้เป็นบทความพิเศษของศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนรางวัล ซีไรต์ เมื่อปี 2524 ซึ่งกรุณาเขียนฝากไว้ให้หนังสือใต้ถุน เมื่อสิบปีก่อน
.
พี่อัศศิริ ธรรมโชติ รุ่น 6 ได้หยิบเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับอาจารย์บำรุงสุข และชีวิตสมัยเป็นนิสิตมาถ่ายทอด หากพร้อมแล้ว เชิญติดตามได้เลยค่ะ
……………………………….
‘บูชาครู’ จาก ‘โรงอาหาร’
อัศศิริ ธรรมโชติ
นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 6
มองย้อนหลังกลับไปเข้าเรียนเป็นน้องใหม่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ดูโบราณเหลือเกิน และดูเหมือนว่าโลกเพิ่งจะเริ่มต้น นิเทศศาสตร์ในขณะนั้นยังเป็นเพียงแค่แผนกวิชาหนึ่ง มีชื่อว่าแผนกอิสระสื่อสารมวลชน และมีชื่อย่อว่า สม. (อีก 2 ปีต่อมาจึงเป็นคณะนิเทศศาสตร์) มีตึกเรียนเพียงหลังเดียวเพิ่งจะตั้งมาได้ 6 ปี ตึกหลังนี้ตั้งเผชิญหน้าอยู่กับคณะครุศาสตร์อันเก่าแก่
จำได้ว่าเมื่อรุ่นพี่เรียกเข้าแถวยืนเรียงกันไปที่หน้าตึกหลังนี้ มักจะมีน้องใหม่ที่หน้าตึกของครุศาสตร์ ยืนอยู่แบบเดียวกันที่ฝั่งตรงข้ามและได้แต่มองตากันด้วยความงุนงงไปมา
ตึกเรียนมี 4 ชั้น บนสุดเป็นดาดฟ้ากว้างที่บ่อยครั้งมีเพื่อนแอบขึ้นไปวิ่งเล่นไล่กัน เมื่อมองลงมาจากดาดฟ้านี้ยังแลเห็นคอกหมู มีบ้านคนเลี้ยงหมูอยู่ที่ริมรั้วไกลออกไป
คำว่า ‘ใต้ถุน’ สมัยผมยังไม่มี มีแต่ลานซีเมนต์ที่อยู่ต่ำชิดติดกันกับตึกเรียนฝั่งใน เป็นโครงสร้างเหล็กมีหลังคาคลุม ทำเป็นโรงอาหารย่อมๆ ตั้งโต๊ะและม้าไม้เรียงชิดติดกันไป อีกฝั่งเป็นสนามโล่งใช้เป็นที่ออกกำลังเตะฟุตบอล เล่นวอลเลย์บอล เล่นตะกร้อและอื่นๆ อีกตามอัธยาศัยเมื่อยามว่างหรือไม่อยากเข้าห้องเรียน
‘โรงอาหาร’ ที่ว่านี้ ก็เหมือน ‘ห้องเรียน’ อีกแห่งหนึ่ง
โรงอาหารถูกใช้เป็นที่อเนกประสงค์ของนิสิตนอกเหนือไปจากการนั่งกินดื่ม ก็มีนับตั้งแต่ ทำรายงาน ท่องตำราเรียน พูดจาหารือปรึกษาคุยกันสารพัดเรื่อง ตลอดจนนั่งร้องเพลง เล่นกีตาร์ หรือว่านั่งฝันเฉยๆ ก็ได้สำหรับใครบางคน แต่สำหรับผมแล้ว ที่นี่คือ สโมสรอันเป็นที่รวมของผองเพื่อนและน้องพี่หลากหลาย และแม้แต่ที่มาจากคณะอื่นซึ่งไม่ต่างไปจากชั้นเรียนวิชาสังคมศาสตร์ที่ทำให้รู้จักเรียนรู้ผู้คนที่ต่างกัน ทั้งความคิด ฐานะ และภูมิหลังความเป็นมาของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ผมมีเพื่อนหลากกลุ่มคุยกันได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนสนิทคุยกัน ทั้งเรื่องการมุ้งการเมือง ได้ความรู้ความคิดเปิดขอบฟ้าให้กว้างก็จากที่แห่งนี้
คณะนิเทศศาสตร์เมื่อสี่ทศวรรษก่อนดูเหมือนจะมีอาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ท่านเดียวที่รู้ว่าจะไปทางไหน เพราะท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์นี้ขึ้นเป็นที่แรกของประเทศ จึงไม่มีใครรู้จักดีว่าเรียนอะไรบ้าง และเมื่อจบไปแล้วจะไปทำงานที่ไหน และวิชาอย่างนี้ต้องเรียนกันด้วยหรือ เช่น การทำข่าว งานหนังสือพิมพ์ งานเขียน งานประชาสัมพันธ์ ทำวิทยุ ทำทีวี ถ่ายรูป ฝึกหัดปฏิบัติเอาเองก็เป็นได้
ยังไม่มีใครรู้จักคำว่าโลกสารสนเทศหรือว่าโลกแห่งข่าวสารความรู้ เพราะยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต แม้แต่อุปกรณ์อย่าง กล้องถ่ายรูปก็มีราคาแพงมาก น้อยคนนักที่จะมี เวลาเรียนต้องหยิบยืมกันให้วุ่นวายไปหมด
.
และอย่าว่าเลยขนาดทีวีในยุคนั้น ก็ยังต้องไปอาศัยกันดูที่บ้านเพื่อน
.
ชั่วโมงที่เรียนกับอาจารย์บำรุงสุข บ่อยครั้งที่ท่านพูดถึงความก้าวหน้าเติบโตของโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่ใกล้จะมาถึงพร้อมกับความเจริญรุ่งเรืองของคณะนิเทศศาสตร์ของเรา แต่ไม่ค่อยมีใครฟัง ผมกับเพื่อนคิดว่าท่านฝันเอามากกว่า ท่านอาจารย์บำรุงสุขบอกเอาไว้เสร็จสรรพว่าต่อไปคณะนี้จะมีตึกอะไรบ้าง และแต่ละห้องจะใช้เรียนใช้ทำอะไร พวกเราลับหลังเห็นเป็นเรื่องขำเสียด้วยซ้ำ
จำเนียรกาลผ่านมาถึงได้รู้ว่า ท่านอาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ของเราเป็นผู้ที่มีสายตายาวไกลมาก ด้วยท่านมองเห็นโลกที่ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 20-30 ปีต่อมาถึงได้บังเกิดขึ้นจริงภายในประเทศนี้ นั่นก็คือโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร โลกยุคสารสนเทศหรือว่าโลกแห่งนิเทศศาสตร์
หลังเรียนจบผมกลับมาเยี่ยมคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นับได้น้อยครั้งมาก แต่ครั้งใดที่มีโอกาสได้นั่งรถผ่านคณะ มองเห็นตึกโตใหญ่ ทันสมัยก้าวหน้า นอกจากความรู้สึกดีใจ ความภาคภูมิใจแล้ว ก็อดที่จะหวนนึกไปถึง ‘โรงอาหาร’ ที่ที่ผมเคยนั่งอยู่เป็นประจำไม่ได้ ด้วยในทุกครั้งพลางก็คิดว่ามันคงจะไม่อยู่แล้วละ คงหายไปแล้วกับกาลเวลาและโรงอาหารโอ่อ่าหรูหราที่เข้ามาแทนที่
.
สิ่งสำคัญที่คณะนิเทศศาสตร์ในยุคนั้นให้กับผม ก็คือการสอนวิชาความรู้อย่างกว้างขวางหลายสาขา นับตั้งแต่วิชาการเมือง การเศรษฐกิจ ไปจนถึงประวัติศาสตร์ วรรณคดีและศิลปะ เรียกว่ารู้จักกันตั้งแต่บุคคลของโลก อย่าง อดัม สมิธ มาจนกระทั่งถึงขุนแผนเมืองกาญจน์ของไทยเรา ซึ่งผมก็ได้นำวิชาการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือว่านักข่าว นักหนังสือพิมพ์
หนังสือพิมพ์ในยุคผมเมื่อ 30-40 ปีก่อน มีอุปกรณ์เพียงแค่ปากกาหมึกแห้งหรือว่าเครื่องพิมพ์ดีดแบบโบราณกับโทรศัพท์ตั้งโต๊ะที่ใช้นิ้วหมุนเท่านั้น แต่กระนั้นก็สามารถที่จะต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวงได้ สามารถที่จะเปลี่ยนสังคมและประเทศชาติไปสู่สิ่งที่ดีได้ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือที่ง่ายๆ เหล่านี้ และนี่ก็คือสิ่งที่อยากจะบอกกับนักนิเทศศาสตร์ทั้งหลาย ทั้งในปัจจุบันและที่กำลังจะเรียนจบออกไป
พวกเครื่องมืออุปกรณ์ไม่ว่าจะทันสมัยไฮเทคอย่างไรในทุกวันนี้ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือเฟชบุ๊ก ไอแพด หรือดาวเทียมก็ดี จะมีแต่ความว่างเปล่าถ้าปราศจากจิตสำนึกหรือว่าวิญญาณของผู้เป็นนักนิเทศศาสตร์
สุดท้ายเมื่อย้อนรำลึกผมนึกถึงภาพตนเองนั่งอยู่ที่ ‘โรงอาหาร’ ลานซีเมนต์เมื่อ 40 ปีก่อน มองไปที่ ‘ใต้ถุน’ (จริงๆ) ของตึกเรียนหลังเดียวของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีอยู่ พลางก็นึกเห็นภาพเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งในวันรับน้องใหม่ เขาถูกสั่งให้คลานเข้าไปในใต้ถุนตึกที่มืดและมีแต่เศษขยะ เขาถูกเศษแก้วบาดมือเลือดไหลโชกจนต้องนำส่งโรงหมอในเวลาต่อมาและนี่ก็คือความทรงจำในอุบัติเหตุอันเล็กน้อยที่อยากจะเล่าสู่กันฟังไว้ จาก ‘ใต้ถุน’ ตึกเก่าของอดีตกาลที่ผ่านมา
แล้วขอถือโอกาสนี้ในที่แห่งเดียวกันนี้เงยหน้าขึ้นสู่ฟ้ากว้าง กราบคารวะดวงวิญญาณ ท่านอาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้มีพระคุณคุณูปการ รวมทั้งครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ได้สอนผมมาครับ.
ที่มา : หนังสือใต้ถุน หนังสืออนุสรณ์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552-2553
ขอนำภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2 เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมใบหยกสกาย มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดพิธีทำบุญ รำลึกถึงศาสตราจารย์ บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเราตัวแทนจากมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงความรำลึกถึงอาจารย์ที่เคารพรักของเราด้วยค่ะ
มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ขอพาทุกท่านย้อนกลับไป เพื่อสัมผัสเรื่องราวของอาจารย์ผู้เสียสละ ผ่านการ์ตูน 4 ตอนที่รังสรรค์โดยฝีมือของพี่น้องชาวนิเทศ แล้วคุณจะทราบว่า ชายผู้นี้สำคัญอย่างไรกับสังคมไทย
มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ
เลขที่ 254 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330