ผู้กำกับที่กลัวการก้าวไปข้างหน้า : โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล

<<< แชร์บทความนี้

ในช่วงยี่สิบปีมานี้ หากพูดถึงผู้กำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึง ‘โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล’
 
พี่มากพระโขนง ทำรายได้รวมทั่วประเทศเกินพันล้านบาท
 
กวนมึนโฮ กลายเป็นหนังรักยอดนิยมระดับเอเชีย
 
แฝด มีผู้สร้างจากต่างประเทศขอซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลงเป็นเวอร์ชันตัวเอง
 
แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าจะมีวันนี้ สิ่งที่เขาต้องก้าวข้ามให้พ้นคือ ความกลัวที่ฝังแน่นอยู่ในใจของตัวเอง ซึ่งโต้งได้มาเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ผ่านเวที ‘สารบำรุงสุข’ ทอล์คโชว์ปลอดสารพิษ เพื่อสุขลักษณะที่ดีทางความคิด
—-
 
“ตอนที่ผมทำพี่มาก ผมคิดแค่ว่าอย่างมากก็แค่โดนใจวัยรุ่น ไม่คิดว่าจะกว้างไปถึงทุกเพศทุกวัย”
.
พี่มากพระโขนง มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่โต้งอยากนำตัวละคร 4 ตัวที่ปรากฏตัวในหนังสั้น ซึ่งอยู่ภายใต้โปรเจ็กต์ 4 แพร่ง และ 5 แพร่ง มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว แล้ววันหนึ่ง เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี หนึ่งในทีมเขียนบทก็เสนอว่า น่าจะเอาตำนานเรื่องแม่นาคมาตีความใหม่

จากนั้นเขาก็เริ่มตีโจทย์ไปต่างๆ นานา เช่นพ่อมากกับแม่นาคอยู่คอนโดหรู แล้วฝั่งตรงข้ามกับเป็นแก๊งค์ 4 คนที่พยายามบอกพ่อมากว่าเมียเป็นผี แต่ก็ยังไม่โดนใจ กระทั่งมาจับจุดได้ว่าแม่นาคทุกเวอร์ชันล้วนเล่าผ่านมุมของแม่นาคหมดเลย ก็เลยคิดใหม่ทำใหม่ เล่าผ่านมุมของพ่อมากแทน

“ผมติดใจมากว่าทุกเวอร์ชัน ตอนที่พี่มากรู้ว่าเมียตัวเองเป็นผี จากที่เคยรักเหลือเกิน กลายเป็นไม่เอาแล้ว เราเลยเกิดคำถามว่าจริงเหรอ จากนั้นก็เลยสมมติว่าจะเป็นยังไงถ้าในตำนานมีเพื่อนงี่เง่า 4 คนนี้อยู่ด้วย

“ตอนนั้นทีมก็พลุ่งพล่านไอเดีย อย่างทรงผมเราก็อยากให้ดูแล้วมันทรงไทยหรือบิ๊กแบง เกาหลี ภาษาก็ทันสมัยเรียกว่าเค้ากับตัวเอง และที่ใหญ่หน่อยคือ ตัวเอก เราเอาฝรั่งมาเล่น 2 คน ตอนนั้นก็กลัวโดนด่าเหมือนกัน แต่คิดอีกทีถ้าทำใหม่ทั้งทีก็อยากให้สุดทางไปเลย ก็เลยเสนอว่า ถ้าไอ้มากไม่ได้ชื่อมาก แต่ชื่อมาร์กจะเป็นยังไง ไม่มีใครห้ามใคร เราก็เลยใส่เต็มที่ถึงขั้นเปลี่ยนตอนจบ

“แล้วในนาทีหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นงานฉลองกี่ล้าน ผู้ชายคนหนึ่งคือ พี่เอส-คมกฤษ ตรีวิมล เดินเข้ามาถามผมว่า ทำไมมึงกล้าจัง รู้ได้ไงว่าจะเวิร์ก ถ้ามากเกินอีกนิดหนึ่งจะเป็นหนังเลอะเทอะ บ้าบอได้เลยนะ ซึ่งตอนที่เราทำไม่กังวลอะไรเลย เราไม่รู้ว่าเดินทางมาสู่จุดนี้ได้ยังไง แต่พอเขาถามก็เลยคิดว่าเราเอาชนะสิ่งเหล่านี้มาได้ยังไง ทั้งที่วันแรกผมกลัวไม่ต่างจากอนันดามีผีอยู่บนคอตัวเอง”
 

โต้งเล่าว่า ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ เขากลัวการออกกอง เพราะเพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน และเป็นคนที่เด็กสุดในกอง เขาจึงต้องคิดทุกอย่างไว้ละเอียด ทำทุกอย่างเป็นเส้นตรง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมหน้ากองเลย และที่สำคัญคือ เขาเครียดและกังวลถึงขั้นนอนไม่หลับ

แต่จุดที่หักเหสำคัญที่ทำให้เขารู้ว่าตัวเองไม่ปกติแล้ว เกิดขึ้นในฉากที่ตัวเอกขับรถชนผี ซึ่งวันก่อนถ่าย ทีมโลเกชันโทรศัพท์มาบอกว่า เจ้าของสถานที่ไม่อนุญาตให้ถ่าย แต่แทนที่จะรู้สึกกังวล เขากลับรู้สึกโล่งใจ ซึ่งพอมองย้อนกลับไป สิ่งนี้สะท้อนว่าเขากำลัง ‘กลัวโง่’

“เราเป็นเด็ก เราต้องการพิสูจน์ตัวเองว่า เราเจ๋ง แล้วไม่ยอมรับว่าตัวเองโง่ เวลาเขาถามความเห็น เราพยายามมีความเห็นเลียบๆ เคียงๆ อีกเรื่องที่ผมเป็นคือกลัวคนจะมองเราว่าเป็นยังไง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำงานเลย และใช้เวลาหลายปีในการเอาชนะสิ่งนี้


“เพราะตอนที่ถ่ายชัตเตอร์เราอยู่ท่ามกลางผู้ยิ่งใหญ่มาก แล้วถ่ายได้ 60 เปอร์เซ็นต์ ผมถูกสั่งหยุดถ่ายกลางคัน สิ่งที่เราคิดคือฉิบหายแล้ว คิดแต่วิกฤตศรัทธา ตอนนั้นผมกับโอ๋ที่เป็นผู้กำกับร่วมดาวน์มาก ทำไมต้องเจอสิ่งนี้ แต่ความจริงแล้วการหยุดถ่ายคราวนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้ เพราะผมมีเวลามากมายในการตัดต่อ ทบทวนสิ่งที่เราถ่ายไปว่าพอหรือไม่

“และต่อมาเมื่อผมทำหนังเรื่องสี่แพร่ง ผมก็กลัวการทำหนังตลก ครั้งนั้นผมทำหนังเรื่องคนกลาง ซึ่งพล็อตนี้เกิดขึ้นจากเราไปทะเลเพื่อคิดมุกผี แล้วทีมงานอีก 2 คนก็พยายามแย่งกันนอนกลาง ด้วยความเชื่อว่านอนริมเดี๋ยวผีมาดึงไป ก่อนนอนผมเลยพูดว่า ถ้ากูตายจะมาหลอกคนนอนกลางก่อน คืนนั้นนอนไม่หลับเลย แล้วรุ่งขึ้นผมจดคำนี้ไว้เลย เป็นความรู้สึกที่มันมาก ทั้งน่ากลัวและตลก แต่พอคิดแบบนี้ ความกลัวแล่นมาเลยว่าทำหนังตลกได้เหรอ เรากลัวในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่โชคดีที่มันเป็นหนัง 4 ตอน ความกดดันก็เลยกระจายไป เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ ซึ่งก็สำเร็จกว่าที่คิด พอเราทำอะไรใหม่ๆ แล้วสำเร็จก็เลยเริ่มติดใจ กล้าเผชิญความกลัวครั้งต่อไป”

จากหนังผีสู่หนังตลก โต้งเริ่มทำหนังรัก ‘กวนมึนโฮ’ ซึ่งสถานการณ์ไม่ต่างจากครั้งแรกเลย เขากลัวตัวเองจะเป็นผู้กำกับหนังรักที่แย่สุดใน GTH จึงกดดันอย่างหนัก เขาใส่ใจการแสดงของนักแสดงเยอะมาก มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด และมีถ่ายเผื่อเยอะมาก เพื่อจะได้ช็อตที่ดีที่สุดสำหรับภาพยนตร์

กระทั่งวันหนึ่งประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดนับสิบปี ทำให้เขากล้าและเดินหน้าได้อย่างมั่นใจ

“ทุกวันนี้ผมออกกองโดยไม่กังวลอีกแล้ว คือปกติผมเป็นคนเตรียมงานเป๊ะมาก แต่พอถึงหน้ากองผมพร้อมจะทิ้งทุกอย่างและพร้อมอิมเพอร์ไวซ์ได้แล้ว คือบริหารตัวเองจนอยู่หมัด ค่อยๆ เอาชนะทีละอย่างสองอย่าง

“แต่ไม่ได้หมายความว่าผมโปรแล้ว ไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะเวลาเริ่มสิ่งใหม่ก็ยังกลัวอยู่ อย่างตอนนี้โปรเจ็กต์ใหม่ในชีวิต อาการเก่าๆ ที่เคยเป็นก็เริ่มกลับมา แต่ผมกลับรู้สึกว่าความกลัวทำให้มีชีวิตชีวา และทำให้เรากล้าเดินเข้าไปในความมืด ซึ่งอาจจะมีสิ่งยิ่งใหญ่รอเราอยู่ก็ได้”

5 สิ่งที่เรียนรู้จากโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ใน ‘สารบำรุงสุข’


1. ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง รู้จักยอมรับตัวเอง และพร้อมเรียนรู้


2. บางทีในความมืด หากเราไม่กลัวแล้วเดินเข้าชน อาจมีเรื่องยิ่งใหญ่รออยู่ก็เป็นได้


3. มองโลกในหลายมุม บางทีเรื่องที่เหมือนเลวร้าย อาจมีสิ่งดีๆ ซุกซ่อนอยู่


4. ความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือคุณจะบริหารความกลัวและก้าวให้พ้นจากข้อจำกัดอย่างไร


5. ประสบการณ์ และการเรียนรู้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้หลุดจากความกลัวไปได้…

RELATED POSTS

ภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2

ขอนำภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2 เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมใบหยกสกาย มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ

Read More »

31 มกราคม 2568 : ครบรอบ 32 ปี วันบำรุงสุข

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดพิธีทำบุญ รำลึกถึงศาสตราจารย์ บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเราตัวแทนจากมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงความรำลึกถึงอาจารย์ที่เคารพรักของเราด้วยค่ะ

Read More »

การ์ตูน ‘บำรุงสุข’ ผู้ก่อกำเนิดนิเทศศาสตร์

มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ขอพาทุกท่านย้อนกลับไป เพื่อสัมผัสเรื่องราวของอาจารย์ผู้เสียสละ ผ่านการ์ตูน 4 ตอนที่รังสรรค์โดยฝีมือของพี่น้องชาวนิเทศ แล้วคุณจะทราบว่า ชายผู้นี้สำคัญอย่างไรกับสังคมไทย

Read More »

มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ

 

เลขที่ 254 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330