อย่าปล่อยให้การ Bully ทำลายคุณ!! : โอปอล์-ปาณิสรา อารยะกุล

<<< แชร์บทความนี้

เชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่เป็นทารก ผู้หญิงคนนี้ก็ถูก Bully แล้ว
 
“แม่เล่าให้ฟังว่า ตอนเป็นเบบี้ ก็เอาเราห่อผ้าแล้วไปเดินเล่นในหมู่บ้าน คนแถวบ้านเดินมาทัก ว้าย! คุณแม่ น้องเขาไม่ได้ดำนะคะ เขาเขียวเลยค่ะ แล้วก็หัวเราะ พอต่อมาเราเข้าโรงเรียน คำทักทายประจำวันที่เจอมาตลอด คือ ดำตับเป็ด ดำด้ามปืน หรือเคยมีคนมาลูบตัวแล้วบอกว่า รูปชั่วตัวดำ แต่คนไทยจะน่ารัก เขาจะจบด้วยรูปประโยคว่า ล้อเล่น”
 
ตลอด 30 กว่า ‘โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล’ ถูกทำร้ายด้วยคำพูด ด้วยการเขียนมาแล้วสารพัดอย่าง และยิ่งหนักข้อขึ้นเมื่อก้าวสู่วงการบันเทิง เมื่อปี 2547
 
เพราะสิ่งที่หลายคนใช้ตัดสินคนอื่นว่าดีหรือไม่ หาใช่ความสามารถ หรือความทุ่มเทต่อการทำงาน แต่เป็นอารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว ผ่านรูปร่างหน้าตา หรือรสนิยม
โอปอล์เล่าในเวที ‘สารบำรุงสุข’ ทอล์คโชว์ปลอดสารพิษ เพื่อสุขลักษณะที่ดีทางความคิด ว่า ตัวเองเป็นเหยื่อรายแรกๆ ของ Social Bullying หรือการล้อเลียน กลั่นแกล้ง บนสื่อออนไลน์

ความรุนแรงของ Social Bullying นั้นสูงมาก เพราะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากัน บางรายไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ คำที่ใช้ เหตุการณ์สมมติที่เกิดขึ้นก็มักแรงกว่าปกติ และแทบไม่มีการยั้งคิด และแพร่สะพัดเร็วอีกด้วย

“ครั้งแรกที่เจอ Social Bullying จำได้ว่าเล่นเรื่อง ‘แจ๋ว’ เราเห็นกระทู้ด่าตัวเองว่า ‘อีดำหน้าเหลี่ยมนี้เป็นใคร มีสิทธิอะไรมาออกทีวี’ เนื้อหาในนั้นจับใจความได้ว่า ผู้หญิงคนนี้หน้าตาน่าเกลียดมาก อัปลักษณ์ เปิดทีวีมาดูแล้วจะอ้วก ออกทีวีได้ไง ไม่คอมเมนต์สักคอมเมนต์มาช่วยเราเลย ตอนที่อ่านตกใจนะ แต่ถามว่าเสียใจไหม ด้วยความสัตย์จริงที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองสวยเลย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ทำอะไรเราไม่ได้ แต่เรื่องจี๊ดคือ เขาบอกว่าเราไม่ดีพอ

“ปอล์รู้ว่าตัวเองไม่สวย แต่อินเนอร์ข้างในไม่คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ปอล์เรียนไม่เก่ง แต่ปอล์ขยันเรียน ปอล์ต้องการให้ชีวิตตัวเองได้ดี อยากเลี้ยงดูพ่อแม่ ปอล์ดีพอ ก็เลยจี๊ดมากที่เขาบอกว่าเราไม่ดีพอที่จะอยู่เบื้องหน้า เลยบอกกับตัวเองว่า ได้ ฉันจะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ฉันดีพอ และอีกสาเหตุที่จำกระทู้นั้นได้ คือมีคอมเมนต์หนึ่งที่บอกว่าแกอย่าไปด่าเขา พ่อเขาเป็นเจ้าทางเหนือ ฉันเคยเรียนกับเขาที่เชียงใหม่ ก่อนเขาบินไปอังกฤษ คือหนึ่งปอล์ไม่มีเชื้อสายเลย สองไม่เคยไปเชียงใหม่ และสามไม่เคยเรียนต่ออังกฤษ ทำให้เรารู้จักว่าโลกโซลเซียลเป็นใครมาก็ได้”

โอปอล์เลือกที่จะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง และไม่ปล่อยให้คำสบประมาทใดๆ จากใครก็ไม่รู้มามีอิทธิพลเหนือชีวิต แม้กระทั่งช่วงเปิดตัวแฟนหนุ่ม ซึ่งเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงมาก แต่ทั้งคู่ก็พยายามฝ่าฟันจนก้าวพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้

“ตอนนั้นคนด่าจนตาลอยเลย การด่าแบ่งเป็น 3 ประเด็นคือ หนึ่ง..พี่โอ๊คเป็นเกย์ หลอกปอล์ สอง..ปอล์ไม่สวย เราสองคนไม่เหมาะสมกัน สาม..สองคนนี้มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีคอมเมนต์หนึ่งเขาคิดเป็นเงินมาเลยว่าถ้าเราออกอีเวนต์ร่วมกันจะได้เงินเท่าไหร่ สองคนนี้น่าสมเพช และช่องทางในการด่าตอนนั้น เพื่อนที่ทำมีเดียเอเจนซี่ บอกว่าเป็นการ Boom Media คือครบทุกสื่อเลย

“แต่นอกจากสื่อแล้ว ในชีวิตประจำวัน ปอล์ไปเดินห้างกับพี่โอ๊ค แล้วก็มีคนพูดให้ได้ยินว่า ทำเป็นเดินอวดสื่อ ซึ่งตรงนั้นมันสื่อตรงไหน คือเขาพยายามทำให้เรารู้ว่าเขาไม่โอเคกับคู่เรา หรือมีอยู่ครั้งหนึ่งปอล์กำลังต่อคิวเข้าห้องน้ำ แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินสวนมาอุ้มลูก แล้วก็เดินมาบอกว่า ผัวเป็นตุ๊ดนี่ หายยัง คือแรงเสียดทานของสังคมเยอะมาก แม้กระทั่งงานแต่งงาน คนก็ไม่ได้ยินดีเพราะตัดสินจากการอ่านว่าเป็นเรื่องของคนโง่ คนน่าสมเพช คนเหล่านั้นไม่รู้ว่า ปอล์พยายามแค่ไหนจนมีวันนี้ และปอล์ก็ไม่เคยฉาบฉวยกับชีวิตหรือความสัมพันธ์ ปอล์โดนด่ามาเรื่อยๆ แต่จะไม่ใช่คำว่า Bully เพราะการ Bully คือมีผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ แต่ปอล์ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ปอล์ไม่แคร์”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อโอปอล์ตั้งครรภ์ลูกแฝดเมื่อ 5 ปีก่อน ครั้งนั้นเธอมีอาการปากมดลูก เปิดทั้งที่อายุครรภ์เพียง 23 สัปดาห์ หากปล่อยให้คลอดก็เท่ากับแท้ง ซึ่งวิธีการรักษาคือการให้ยาระงับคลอด ซึ่งเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลว ที่สำคัญคือต้องนอนราบไปกับเตียง และขยับตัวให้น้อยที่สุด

“สิ่งที่เราบอกตัวเองคือ ต้องนอนให้นิ่งที่สุดเพื่อให้ลูกรอด ขยับได้แต่หัวกับคอ มีอยู่ครั้งเราแอบกระดกเท้าขึ้นนิดหนึ่ง ผลคือปากมดลูกเปิด เลือดไหนจมเตียงไปหมด โอเคเราจะไม่ดื้อแล้ว และเวลาก็ผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง คุณหมอก็แจ้งว่า หากเราคลอดก่อนกำหนด สิ่งที่จะเกิดขึ้น หนึ่ง..ลูกคุณแม่อาจจะตาบอด สอง..เด็กอาจสมองพิการ สาม..จะหายใจเองไม่ได้ ต้องเจาะคอและถือถังออกซิเจนตลอดชีวิต สี่..ลูกคุณแม่อาจไม่รอด และห้า..คุณแม่อาจจะไม่รอด

“เราต้องตั้งสติ ตกใจแต่ไม่ฟูมฟาย มองหน้าพี่โอ๊ค คุยกันว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องผ่านไปให้ได้ และเราตอนนี้เราพิสูจน์แล้วว่า ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ บางทีเมื่อจุดหนึ่งของชีวิต มันไม่มีอะไรช่วยเราได้ ชื่อเสียงเงินทองไม่มีอะไรช่วยเราได้ สิ่งที่ช่วยเราได้ คือ สติ ตอนนั้นนอนตั้งรับด้วยสติ อีกประมาณ 2 เดือน ตอนนั้นปอล์ให้ยาจนหัวใจเต้นเร็ว ต้องเจาะออกซิเจน พูดไม่ได้แล้ว มันเหนื่อย

“วันหนึ่งกำลังดูเรื่องห้องหุ่น จู่ๆ ก็เหมือนมีคนมากระทืบอก หายใจเข้าไม่ได้ ผ่านไปเรื่อยๆ เหมือนจมน้ำ เราก็รีบควานเตียงกดเรียกพยาบาล พยาบาลวิ่งเข้ามาแล้วตะโกนว่า คนไข้หัวใจวาย ตามญาติ แล้วเขาก็ตะโกนว่าเตรียมคลอด ตอนนั้นปอล์ตั้งครรภ์ได้ 29 สัปดาห์ ถ้าคลอด 1-5 เกิดแน่นอน เป็นครั้งแรกที่ตั้งสติแล้วคิดถึงชีวิตตัวเอง แวบนั้นคุยกับตัวเองว่ามีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้ขอโทษหรือบอกรักใครบ้าง เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าเวลามีค่าเหลือเกิน ได้ทบทวนชีวิต ปอล์ขอบคุณตัวเองนะ ถ้าตอนนั้นปอล์เชื่อที่ทุกคนบอกว่าตัวเองไม่ดีพอ ปอล์คงเสียใจ หรือตอนนั้นปอล์ปล่อยมือจากพี่โอ๊คเพราะทนแรงเสียดทานของชาวเน็ตไม่ไหว ในวันที่วิกฤตทั้งกายทั้งใจ คงไม่มีใครปีนเตียงมากอดปอล์”

ในวันนั้นโอปอล์ตั้งใจว่า หากเธอรอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤตมาได้ สิ่งที่จะทำต่อไป คือการส่งสารไปยังคนที่โดนดูถูก เหยียดหยามมาทั้งชีวิตเหมือนเธอ

เธออยากบอกทุกคนว่า อย่าแคร์ อย่าปล่อยให้ความคิดของตัวเองไปผูกติดกับการวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น เพราะถ้าปล่อยคนที่เสียใจที่สุดก็คือ ตัวเอง ที่สำคัญคือเวลามีสิ่งมีค่า แทนที่จะมัวพะวงกับความคิดของใครก็ไม่รู้ ควรกลับมาค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น อยากทำ และเดินหน้าให้ดีที่สุด

“ปอล์เคยคิดนะ เวลาจะพิสูจน์ทุกอย่าง แต่ตอนนี้ ปอล์จะไม่เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว เพื่อพิสูจน์เรื่องของปอล์กับใครทั้งนั้น โลกนี้มันมีอะไรอีกมากมาย ให้เราค้นหา เอาเวลามีค่าของตัวเองไปค้นหาตัวเองดีกว่า เพราะเราทุกคนต่างรู้ว่าโลกนี้มันไม่ง่าย แค่เราลุกขึ้นมาสู้โลก ก็แสดงว่าเราไม่ธรรมดาแล้ว” โอปอล์กล่าวทิ้งท้าย

5 สิ่งที่เรียนรู้จากโอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล ใน ‘สารบำรุงสุข’

1. ชีวิตคนเราไม่ง่าย คนสำคัญที่ควรแคร์ที่สุด คือตัวเอง และคนที่เรารัก

 

2. อย่าปล่อยให้คำดูถูกเหยียดหยาม หรือคำวิพากษ์วิจารณ์มามีอิทธิพลต่อชีวิต

 

3. ไม่มีทางห้ามความคิดของใครได้ เพราะต่อให้คุณดีแค่ไหน ก็ย่อมมีสิทธิ์ถูก Bully ได้เช่นกัน

 

4. ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต สิ่งที่จะทำคุณอยู่รอดได้ คือ ‘สติ’

 

5. คุณจะไม่ทางถูก Bully ได้เลย ตราบใดที่ไม่คิดว่าตัวเองคือ ‘ผู้ถูกกระทำ’

RELATED POSTS

ภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2

ขอนำภาพประทับใจจากงาน “วันชื่นคืนสุข” รื่นเริงบำรุงสุข#2 เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมใบหยกสกาย มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ

Read More »

31 มกราคม 2568 : ครบรอบ 32 ปี วันบำรุงสุข

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดพิธีทำบุญ รำลึกถึงศาสตราจารย์ บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเราตัวแทนจากมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงความรำลึกถึงอาจารย์ที่เคารพรักของเราด้วยค่ะ

Read More »

การ์ตูน ‘บำรุงสุข’ ผู้ก่อกำเนิดนิเทศศาสตร์

มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ขอพาทุกท่านย้อนกลับไป เพื่อสัมผัสเรื่องราวของอาจารย์ผู้เสียสละ ผ่านการ์ตูน 4 ตอนที่รังสรรค์โดยฝีมือของพี่น้องชาวนิเทศ แล้วคุณจะทราบว่า ชายผู้นี้สำคัญอย่างไรกับสังคมไทย

Read More »

มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ

 

เลขที่ 254 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330